วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประเพณีงานปอยหลวง

ประวัติความเป็นมาและหลักคิด
การที่เรียกว่า ปอยหลวง เพราะงานประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่หรือเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งทางพระพุทธศาสนาและด้านมหรสพเพื่อความบันเทิง ทั้งยังต้องจัดความสะดวกในด้านบริการแก่แขกต่างหมู่บ้านต่างอำเภอ ซึ่งจะมีทั้งสมณะและฆราวาสทุกเพศทุกวัยทางวัดและศรัทธาเจ้าภาพต้องดูแลให้ทั่วถึง
ลักษณะของกิจกรรม



ปอยหลวงเป็นประเพณีนิยมของชาวล้านนาไทยที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองสมโภชสิ่งก่อสร้างภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์ กุฏิสงฆ์ ศาลา กำแพง เป็นต้น เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นเวลาหลายวัน มีพุทธศาสนิกชนในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน (หัววัด)
ซึ่งทางวัดที่จะทำบุญนั้นเป็นผู้มีฎีกาเชิญมาร่วมงานฉลองด้วยกัน มีทั้งต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ปอยหลวงนิยมจัดขึ้นในเดือน 5 – 8 เหนือ เพราะเป็นช่วงที่สิ้นฤดูเก็บเกี่ยวแล้วทำให้การจัดงานนั้นสามารถทำได้อย่างเต็มที่
องค์ประกอบของกิจกรรม
1. ประชาชนที่เป็นเจ้าภาพ
2. พระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาส วัดที่มีการจัดปอยหลวง
3. คณะศรัทธาหรือหัววัดต่าง ๆ ที่กราบนิมนต์มาร่วมฉลอง
4. เครื่องไทยทานของหมู่บ้านที่จะนำมาถวายวัด ร่วมถึงเครื่องไทยทานที่จะถวายหัววัดต่าง ๆ ที่มาร่วมทำบุญ
5. ตุงชัย ใช้สำหรับเพื่อบอกว่าวัดนี้มีงานปอยหลวง
6. มหรสพต่าง ๆ ที่จะนำมาสมโภช ( ในภาคเหนือนิยมหา ซอ มาแสดงในวันที่เชิญหัววัดต่าง ๆ มาร่วมงาน เพื่อเป็นการดึงดูดให้ศรัทธาต่างหมู่บ้านได้อยู่ร่วมงานจนถึงเย็น )
ขั้นตอนของกิจกรรม
เมื่อมีการสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางวัดจะมีการฉลองสมโภชและถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนาจะต้องมีการเตรียมงานอยู่หลายขั้นตอนด้วยกัน
1. จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการในหมู่บ้านเพื่อบอกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงานว่าจะทำอย่างไร โดยร่างออกมาพอเป็นแนวทางหรือแผนการในการจัดงาน (สามารถเปลี่ยนแปลงแผนงานต่าง ๆ ได้ตามเมื่อเข้าในที่ประชุมใหญ่)
2. ประชุมคณะศรัทธาสาธุชนในหมู่บ้านเพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ของงาน และแบ่งงานแบ่งหน้าที่ให้กับชาวบ้านให้มีส่วนร่วมในงาน เช่น กรรมการผ่ายต้อนรับ กรรมการผ่ายปฏิคม เป็นต้น
3. ทางวัดเริ่มออกฎีกาอาราธนานิมนต์เชิญวัดต่าง ๆ เข้าร่วมงานปอยหลวง
4. ทางวัดต้องจัดหามหรสพเพื่อมาสมโภชในงาน เช่น ซอ วงศ์ปี่พาท เป็นต้น
5. ก่อนที่จะถึงวันงานประมาณ 3 วัน ก็จะมีการไปแห่พระอุปคุตมาโดยการไปอธิฐานเอาก้อนหินตามรำน้ำประจำหมู่บ้าน เพื่อมาปกป้องรักษางานให้ดำเนินไปได้ด้วยดี โดยจะสร้างพระวิหารเล็กไว้หน้าพระอุโบสถ มีเครื่องอัตถบริขารไว้แล้วต้องใส่บาตรทุกเช้าตลอดทั้งงาน
6. วันแรกของงานจะมีการตานตุงชัย โดยประชาชนจะนำเอาตุงมาถวายที่วัดแล้วนำไปปักไว้ตามถนนที่จะเข้าสู่วัด เพื่อเป็นการแสดงว่าวัดนี้จะมีงานปอยหลวง
7. วันที่สองของงานคือวันจัดแต่งดาเครื่องไทยทาน โดยที่ประชาชนในหมู่บ้านจะร่วมกัน แต่งดาเครื่องไทยทานและจัดเตรียมสถานที่ไว้ต้อนรับผู้ที่เข้ามาร่วมในงานปอยหลวง
8. วันที่สามของงานคือวันที่จะได้ต้อนรับคณะศรัทธาสาธุชนที่ทางวัดได้มีฎีกานิมนต์มาร่วมงาน ในวันนี้ก็จะมีมหรสพตลอดทั้งวัน การเตรียมงานต่าง ๆ ของทางวัดก็จะได้ใช้ในวันนี้
9. วันที่สี่เป็นวันที่ถวายทานถาวรวัตถุไว้กับบวรพระพุทธศาสนา ในวันนี้ก็จะมีแต่คณะศรัทธาในหมู่บ้านเท่านั้น และเป็นวันที่จะต้องทำความสะอาดวัดสถานที่ที่ใช้ต้อนรับแขก ทางเหนือเรียกว่าล้างผาม ( ผาม คือ สถานที่ที่สร้างขึ้นไว้ต้อนรับหัววัดต่าง)
จุดมุ่งหมายของกิจกรรม
1.เพื่อเป็นถวายถาวรวัตถุไว้กับบวรพระพุทธศาสนา
2.เพื่อเป็นการฉลองสมโภชถาวรวัตถุที่ประชาชนได้ร่วมกันสร้างไว้กับพระพุทธศาสนา
3.เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติที่อยู่ห่างไกลกัน
ความสัมพันธ์เกี่ยวกับประชาสังคม
ในการจัดงานปอยหลวงในแต่ละครั้ง เจ้าภาพต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของสถานที่ ความร่วมมือของคนในชุมชน การเตรียมงาน ต่าง ๆ จึงจะทำให้งานปอยหลวงเกิดขึ้นได้
กิจกรรมปอยหลวงหรืองานปอยหลวงนั้นเมื่อวัดใดจัดขึ้นสิ่งแรกก็คือคนในชุมชนต้องมีความสามัคคีกันถ้าไม่อย่างนั้นงานปอยหลวงก็จะเกิดปัญหาตามมา ทำให้งานเกิดอุปสรรคขึ้น ความร่วมมือร่วมใจในชุมชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญเป็นแรงขับเคลื่อนให้งานปอยหลวงราบรื่นสำเร็จไปได้ด้วยดี คนในชุมชนจะแบ่งงานกันทำ เช่น ผ่ายบริการ ผ่ายต้อนรับ ผ่ายจัดสถานที่ เป็นต้น
อีกประการหนึ่ง ในงานปอยหลวงก็จะมีการเชิญต่างหมู่บ้านมาร่วมทำบุญด้วยเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและเป็นการพบปะกันระหว่างเครือญาติที่อยู่ห่างไกลกัน เพราะส่วนใหญ่ที่เชิญมานั้นก็เป็นญาติกันทั้งนั้น
ดั้งนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่เข้าร่วมงานปอยหลวงมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกัน นั้นคือการร่วมทำบุญสร้างถาวรวัตถุไว้กับพระพุทธศาสนา และยังมีผลพลอยได้อย่างอื่นอีก เช่น ความสามัคคีของคนในชุมชน การได้พบกันของญาติพี่น้องที่อยู่ต่างหมู่บ้าน ทำให้เกิดความสัมพันธ์กันมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น